ไม่ว่าใกล้ หรือไกล
ไม่ว่าครั้งแรก หรือครั้งไหนๆ
‘เรื่องเล่า’ คือ ส่วนประกอบสร้างให้ทุกการเดินทางเปี่ยมด้วยความหมาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘การท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม’ อันมีแกนหลักจากเรื่องราวของเมื่อวานที่ถูกเรียกว่า ‘ประวัติศาสตร์’ ในวันนี้
ดังปรากฏในทริปทั่วไทยของ ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และ สุจิตต์วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ที่พาแฟนๆ รายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ เช็กโลเกชั่นต่อเนื่องยาวนานกว่า 5 ปีเต็ม เตรียมออกสเต็ปสู่ปีที่ 6 ในศักราชหน้า ด้วยคอนเทนต์ที่แตกต่างอย่างยากจะเลียนแบบ ในสไตล์เฉพาะตัวของ (อดีต) สองกุมารสยามแห่งตำนานวงการสื่อ
ในขณะที่สายการบินในตำนานฟากฟ้าเมืองไทย มองเห็นคุณค่าของแหล่งมรดกวัฒนธรรมที่หล่อหลอมสู่ความเป็นไทยตลอดมา โปรเจ็กต์ ‘ทอดน่องท่องฟ้า’ จึงถือกำเนิดขึ้นด้วยการจับมือระหว่าง ไทยสมายล์ ร่วมกับ ทัวร์เอื้องหลวง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)
นำรายการ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว เปิดให้ผู้โดยสารรับชมอย่างรื่นรมย์บนเครื่องบินไทยสมายล์ ตัดริบบิ้นไฟลต์แรกวันนี้ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นไป ปฐมฤกษ์เบิกโรงด้วย 3 ตอน 3 จังหวัด อันได้แก่ ราชบุรี เพชรบูรณ์ และกำแพงเพชร
ย่นย่อประวัติศาสตร์จากผืนแผ่นดินนับพันปีไว้ใน 5 นาทีบนผืนฟ้า
เข้มข้นด้วยเนื้อหาสาระที่ช่วยขับเน้นความงดงามตระการตาของวัดวาอาราม เมืองโบราณและมรดกจากยุคบรรพกาลให้แจ่มชัดกว่าที่เคยสัมผัส
กระตุ้นเศรษฐกิจชาติ
เห็นโอกาสใน ‘เมืองรอง’
“แม้ว่าที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตโควิด-19 แต่การท่องเที่ยวในประเทศยังมีศักยภาพสูง” ธรรมนูญ กู้ประเสริฐ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยสมายล์ เปิดเผยข้อมูล
พร้อมระบุถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ให้ความสำคัญและสนับสนุนเส้นทางเมืองรอง โดยเล็งเห็นโอกาสที่หลายแห่งมีความพร้อมทั้งด้านเศรษฐกิจ แหล่งท่องเที่ยว และโครงสร้างพื้นฐาน สามารถเป็นหนึ่งจุดหมายการเดินทางสำคัญ รองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่จะเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต
“ไทยสมายล์ จึงร่วมมือกับทัวร์เอื้องหลวง และมติชน เปิดตัวโปรเจ็กต์ ทอดน่อง ท่องฟ้า โดยการนำรายการ ทอดน่อง ท่องเที่ยว ของคุณขรรค์ชัย บุนปาน และคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ไปเปิดให้บริการบนเครื่องบินไทยสมายล์ เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม และกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ” ธรรมนูญเล่าที่มา พร้อมเชื้อเชิญให้ร่วมลัดเลาะไปในไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ผ่านการเดินทางสู่เมืองต่างๆ บนแผนที่ประเทศไทย
ปักหมุดได้ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ตะวันออกถึงตะวันตก โดยปัจจุบันไทยสมายล์ให้บริการเส้นทางในประเทศ 10 เส้นทาง ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย อุดรธานี อุบลราชธานี ขอนแก่น ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี หาดใหญ่ และนราธิวาส ซึ่งล้วนมีความเป็นมาอันยาวนานจากชุมชนโบราณสู่การก่อร่างสร้างเมือง จนกลายเป็นจังหวัดที่เต็มไปด้วยศักยภาพและสีสันแห่งวัฒนธรรมหลากหลายชวนให้เดินทางไปเยี่ยมเยือน
แลนดิ้ง ‘ราชบุรี เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร’
3 พิกัดคัดสรร จากทอดน่อง สู่ท่องฟ้า
สำหรับ 3 ตอน 3 เมืองในโปรเจ็กต์ ‘ทอดน่องท่องฟ้า’ เปิดพิกัดที่ 3 จังหวัด เริ่มที่ ‘ราชบุรี’ ซึ่งมีความเป็นมาอันยาวไกลไม่น้อยกว่า 3,000 ปี ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สู่การปรากฏบนจารึกปราสาทพระขรรค์ ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ว่า ‘ราชปุระ’ นคราธิษฐานตามอุดมคติว่าคือเมืองอันรุ่งเรือง มั่งคั่ง ตั้งอยู่ริมน้ำแม่กลองอันอุดมสมบูรณ์ ทั้งยังเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญเมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 ทรงยกทัพไปรับศึกทางตะวันตก
คัดสรรจาก รายการขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยวตอน ‘เข้าถ้ำฤาษีที่เขางูอยู่ราชบุรี เมืองท่าการค้าโลก’ จูงมือข้ามมิติแห่งกาลเวลาย้อนไปยังเมืองโบราณ ‘คูบัว’ ยุคทวารวดีกว่าพันปีก่อน ตระการตากับความยิ่งใหญ่ของ ‘วัดโขลง สุวรรณคีรี’ ซึ่งแม้หลงเหลือเพียงส่วนฐานและบันไดทางขึ้น ก็ไม่ยากที่จะจินตนาการถึงความรุ่งโรจน์ในอดีต ส่วนไฮไลต์ อยู่ที่ ‘เขางู’ เทือกเขาศักดิ์สิทธิ์ประดิษฐานพระพุทธรูปห้อยพระบาทจำหลักบนผนังถ้ำ ปรากฏจารึกอักษรปัลลวะภาษาสันสกฤต แปลได้ความว่า ‘พระศรีสมาธิคุปตะเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยการทำบุญ’
พิกัดที่ 2 แลนดิ้ง ‘เพชรบูรณ์’ ดื่มด่ำบรรยากาศลุ่มน้ำป่าสักสุดชิล เปิดเช็กลิสต์ห้ามพลาด ณ เมืองศรีเทพที่เคยถูกหลงลืมมานาน กระทั่งตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
คัดสรรจากตอน ‘ทวารวดี เมืองศรีเทพ ลุ่มน้ำป่าสัก จ.เพชรบูรณ์’ ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยเสด็จเมืองศรีเทพใน พ.ศ.2447 ช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ทรงฉายภาพไว้เป็นที่ระลึกหน้าปรางค์ศรีเทพ อายุราว พ.ศ.1600 เป็นศาสนสถานแบบวัฒนธรรมเขมรซึ่งส่งต่อไปยังพระปรางค์แบบเดียวกันในลพบุรีและอยุธยา
พิกัดที่ 3 เปิดแผนที่ ‘กำแพงเพชร’ ซึ่งชวนอัศจรรย์ตั้งแต่ชื่อที่ตั้งเป็นสื่อสัญลักษณ์ถึงเมืองที่มีกำแพง ป้อม ปราการมั่นคงแข็งแรงและงดงามเสมือนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระอินทร์ซึ่งมีปราการแก้ว ปรากฏใน ‘จารึกกฎหมายลักษณะโจร’ พ.ศ.1940 ในนาม ‘กำแพงเพชรบุรีศรีวิมลาสน์’
คัดสรรจากตอน ‘มหัศจรรย์มหาศิลาแลงเมืองกำแพงเพชร’ ฉายภาพให้เห็นศิลปะสถาปัตย์ที่สร้างสรรค์จากศิลาแลงแกร่งที่มีอยู่มากมายใต้ผืนดินของเมืองแห่งนี้ที่เริ่มต้นจากชุมชนเกษตรกรรม ก่อนรับวัฒนธรรมอินเดียผ่านการค้าบนเส้นทางคมนาคมยุคการค้าโลก เมื่อ 1,500 ปีมาแล้ว กระทั่งเป็น ‘เมืองสองฝั่งน้ำ’ ในอำนาจรัฐอยุธยา-สุพรรณภูมิ เมื่อราว 600 ปีล่วงมาแล้ว
ประวัติศาสตร์เวอร์ชั่น สุจิตต์-ขรรค์ชัย
‘ใครก็เล่าแบบนี้ไม่ได้’
“ใครก็เล่าแบบเขาไม่ได้ เป็นเรื่องเล่าที่แตกต่าง ไม่เหมือนใคร ไม่ได้เล่าแบบ ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก ไม่ได้เล่าให้เชื่อ หรือสั่งให้ตั้งใจฟัง แต่ชวนตั้งข้อสงสัย ชวนหาคำตอบ เปิดประเด็นใหม่ๆ และยังให้ความรู้เรื่องการตั้งถิ่นฐาน บริบททางภูมิประเทศ มีภาษาศาสตร์ ชื่อบ้านนามเมืองซึ่งมาจากการค้นคว้า ปะติดปะต่อ ทำให้น่าตื่นเต้น โดยทุกตอนผ่านการกลั่นกรองและสำรวจตรวจสอบอย่างจริงจัง”
เป็นคำตอบของ ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ต่อคำถามถึงความแตกต่างระหว่างรายการท่องเที่ยวซึ่งมีมากมายในแพลตฟอร์มต่างๆ กับรายการขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ซึ่งได้เช็กอินขึ้นเครื่องพร้อมโบยบินท่องฟ้ากับไทยสมายล์ด้วยจุดแข็งของเนื้อหาที่แหลมคมและเรื่องเล่าที่ไม่อาจหาใครเทียบชั้นได้
ไม่เพียงข้อมูลหนักแน่น หากแต่เคี่ยวกรำจากประสบการณ์ชีวิต 2 บัณฑิตคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรในยุคบุกเบิก เป็นส่วนหนึ่งของประจักษ์พยานในหลากหลายเหตุการณ์ที่ถูกนำมาเล่าด้วยลีลาสนุกสนาน กลายเป็น ‘ประวัติศาสตร์ความทรงจำ’ ที่ไม่มีให้อ่านในตำรา ทว่า ถูกบันทึกเป็นภาพเคลื่อนไหวโดย ‘มติชนทีวี’ ออกอากาศ ‘ไม่ถี่’ เพียงเดือนละครั้ง แต่ ‘เอาอยู่’ โดยได้รับความนิยมอย่างสูง จากฐานแฟนคลับที่ไม่ใช่เพียงกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด แต่กว้างขวางครอบคลุมตั้งแต่ผู้สูงวัย คนทำงาน ไปจนถึง ‘คนรุ่นใหม่’ ที่โดนใจอย่างจังกับสไตล์ที่ ‘ตรงไปตรงมา’ ภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่รุงรัง
เอ็มดีมติชน เผยว่า กลุ่มที่ติดตามรายการทอดน่องฯ ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และ ‘มีส่วนร่วม’ ผ่านคอมเมนต์ในช่องทางออนไลน์ บอกพิกัดว่าอยากให้ขรรค์ชัย-สุจิตต์เดินทางไปที่ไหน ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ดีสำหรับการตื่นตัวทางประวัติศาสตร์ในวงกว้าง ประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้ชมผู้ฟังก็เติบโตขนานไปพร้อมกับทั้ง 2 ท่านด้วย
“นำเสนอกันมาเยอะ ว่าอยากให้ไปที่ไหน เพราะอะไร ได้รับรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ไม่เคยรู้มาก่อน แม้หลายรายการอาจเล่าเรื่องสนุก แต่การชวนถกประวัติศาสตร์ ในไทยไม่ค่อยมี ทั้ง 2 ท่านตั้งใจเล่าและแชร์มุมมอง ไม่เกี่ยวกับอายุ แต่เกี่ยวกับประสบการณ์และโลกทัศน์ที่เปิดกว้าง”
ศิลปวัฒนธรรม ซอฟต์เพาเวอร์
‘เส้นเรื่องที่แท้จริงของประเทศ’
ย้อนถามถึงโปรเจ็กต์ที่มีร่วมกันระหว่าง ทัวร์เอื้องหลวง ไทยสมายล์ และมติชน ปานบัว กล่าวว่า เบื้องต้นมี 3 โครงการ คือ การนำนิตยสารศิลปวัฒนธรรมขึ้นให้บริการผู้โดยสารเที่ยวบินระดับเฟิร์สคลาส ตามด้วยทัวร์พิเศษ ‘เที่ยวล่อง ท่องตำนาน’ ซึ่งจบไปแล้ว 2 ทริป คือ ชวนเที่ยวสุพรรณบุรี เล่าวรรณกรรมขุนช้าง-ขุนแผน และตามรอยรัชกาลที่ 5 จุดเริ่มต้นสยามใหม่ ยังสิงคโปร์ เหลืออีก 1 ทริป กับการท่องตำนานริมฝั่งโขง อุดรธานี-หนองคาย 26-27 พฤศจิกายนนี้ จนมาถึง ‘ทอดน่อง ท่องฟ้า’ เป็นโปรเจ็กต์ที่ 3
ย้ำชัดถึงการยืนหยัดในเส้นเรื่อง ‘ศิลปวัฒนธรรม’ ของเครือมติชน ไม่ว่าจะในความหมายกว้าง หรือโฟกัสลงมายังชื่อนิตยสารในเครือซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น ‘ศัพท์บัญญัติ’ ใหม่ของประเทศ เนื่องด้วยก่อนการก่อเกิดนิตยสารศิลปวัฒนธรรมฉบับปฐมฤกษ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2522หรือเดือนนี้เมื่อ 43 ปีก่อน สังคมไทยไม่เคยมีศัพท์ดังกล่าว กระทั่ง สุจิตต์ วงษ์เทศ นำ Art & Culture มาแปลอย่างเรียบง่าย ใช้เป็นชื่อนิตยสารรายเดือนที่ตัวเองก่อตั้ง
“ศิลปวัฒนธรรมถูกฝังอยู่ในวิถีและวิธีคิดของทีมงานในบริษัท ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปกี่รุ่น เส้นเรื่องนี้จะอยู่ตลอดไป ศิลปวัฒนธรรมเป็นซอฟต์เพาเวอร์ เป็นต้นทุนสำคัญของประเทศซึ่งมติชนผลักดันอย่างต่อเนื่อง ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสนุก ดีเบตได้ ไม่เคยเชย” ปานบัว ยืนยันหนักแน่น พร้อมเล่าถึงเส้นทางยาวนานกว่า 4 ทศวรรษของนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ที่ขยายเป็นพ็อคเก็ตบุ๊กส์ในนาม ‘ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ’ สู่เสวนาบนเวที ‘สโมสรศิลปวัฒนธรรม’ ที่มีให้รับชมผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย กระทั่งขยายสู่ ‘ทอดน่องท่องเที่ยว’ โดย ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ซึ่งผลิตโดย ‘มติชนทีวี’
ล่าสุด ยังมีสำนักพิมพ์ SILPA ZIP เพื่อขยายช่องทางในการเล่าประวัติศาสตร์ให้อ่านง่าย รูปเล่มสบายตา เนื้อหาเพลินใจซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม การันตีจาก ‘รสไทยไม่แท้ : ถอดรูปทิพย์อาหารไทยในสนามการเมืองวัฒนธรรม’ ผลงาน อาสา คำภา ที่ขายดียืน 1 บูธมติชนในมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 ที่เพิ่งจบไปหมาดๆ
“ไม่ว่าคนทำจะเป็นใคร จุดยืนไม่เคยเปลี่ยน แค่เปลี่ยนวิธีการสื่อสารให้เหมาะสมกับยุคสมัย ปัจจุบันเราก็ยังรับไม้ต่อเรื่องนี้อย่างเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นสำนักพิมพ์มติชน มติชนทีวี และยังมีศูนย์ข้อมูลมติชนซึ่งจัดวอล์กกิ้งทัวร์ประวัติศาสตร์ทุกเดือน”
สำหรับการต่อยอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ สู่การท่องเที่ยวและการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปานบัว เชื่อมร้อยความสัมพันธ์ โดยเริ่มที่พื้นฐานตั้งต้นว่า ทุกชุมชน ทุกเมือง มีเรื่องเล่าของตัวเอง มีจุดเด่นและเสน่ห์ที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ โดยเฉพาะหลังผ่านพ้นสถานการณ์โควิดซึ่งส่งผลให้มุมมองการท่องเที่ยวของหลายคนเปลี่ยนแปลงไป การเดินทางเพื่อ ‘สำรวจสิ่งใหม่’ มีมากขึ้น ไม่ใช่เพียงการใช้เวลาให้หมดไปในช่วงวันหยุด
“ทุกเมืองที่เราผ่าน ทุกเส้นทางที่เราไป มันมีเรื่องที่น่าสนใจทั้งนั้น ต้องถามว่าจะเล่ากันอย่างไรดีกว่า เพราะเรื่องเล่าสำคัญในการสร้างครีเอทีฟอีโคโนมี ซึ่งน่าจะเป็นจุดหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการด้วยไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวเท่านั้น ถ้าต่อจิ๊กซอว์ของคุณขรรค์ชัย คุณสุจิตต์ได้ จะรู้ว่าประเด็นที่หยอดลงไป ล้วนแต่นำไปใช้ต่อได้ สำหรับคนไปเที่ยวก็มีอรรถรสขึ้น สำหรับจังหวัดก็อาจมองเห็นมุมมองเปิดกว้างในมิติการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ไม่ใช่เฉพาะเทศกาลอย่างเดียว แต่มีการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ทางเลือก ที่เกี่ยวพันกับชีวิต ชุมชน และผู้คน” เอ็มดีมติชนกล่าว ก่อนทิ้งท้ายว่า
ประวัติศาสตร์ ศิลปะและวัฒนธรรม คือจุดแข็งเสมอมาและตลอดไป
พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร