วันที่ 19 มีนาคม 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กองบัญชาการกองพลทหารราบที่ 4 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จ.พิษณุโลก กอ.รมน.ภาค 3 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคที่ 3 ได้นำคณะสื่อมวลชนจาก 5 จังหวัด ประกอบไปด้วย จ.สุโขทัย กำแพงเพชร นครสวรรค์ เชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร มาศึกษาดูงาน ในพื้นที่กอ.รมน.ภาค 3 โดยมีพล.ต.เทอดศักดิ์ งามสนอง เสนาธิการกองทัพน้อยที่ 3 ในฐานะ โฆษกกองทัพภาคที่ 3/กอ.รมน.ภาค 3 คอยกล่าวต้อนรับสื่อมวลชนและกล่าวถึงการทำงานในพื้นที่ พร้อมกับเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้สอบถามของการทำงาน
โดยเฉพาะในเรื่องปัญหาความขัดแย้งของประเทศเพื่อนบ้าน คือ เมียนมา ซึ่งอาจทำให้มีผลกระทบต่อประเทศไทย เรื่องนี้ พล.ต.เทอดศักดิ์ งามสนอง เสนาธิการกองทัพน้อยที่ 3 เปิดเผยว่า ขณะนี้กองทัพภาคที่ 3 เตรียมความพร้อมในการหาสถานที่เพื่อรองรับผู้หนีภัยจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมา ด้านจังหวัดตาก ตามนโยบายผู้บัญชาการทหารบกเรียบร้อยแล้ว โดยขั้นตอนจะจัดเป็นพื้นที่แรกรับเพื่อคัดแยก แบ่งไปตามสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ ขณะนี้ได้มีการตั้งเต็นท์ภายในสนามกีฬาแล้ว ยืนยันว่ามีความพร้อมมากกว่า 90%
สำหรับการปฎิบัติจะจำแนกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่หลบหนีเข้ามาเพื่อรักษาตัวเองจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากระบบสาธารณสุขของประเทศเขาไม่เพียงพอ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะเข้าไปดูแลส่วนนี้ กลุ่มที่ 2.คือผู้ที่ได้รับผลกระทบหลังเหตุการณ์ยึดอำนาจ ซึ่งมีการมองว่า อาจจะมีนักการเมืองนักศึกษาที่ต่อต้านรัฐบาลหนีเข้ามา ขณะนี้อยู่ในช่วงการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเป็นอย่างไร
พล.ต.เทอดศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการประสานงานระหว่างทหารกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เพื่อไม่ให้ปล่อยตัวผู้ลักลอบหนีเข้าเมืองหลังถูกจับกุม ทางทหารทำงานในการตรวจพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง โดยดำเนินการร่วมกับผู้นำชุมชน ทั้ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แต่ต้องเข้าใจว่า ก่อนหน้านี้สภาพความเป็นอยู่ของชนกลุ่มน้อย บริเวณแม่น้ำเมยและสาละวินไม่ใช่ลักษณะการแบ่งเขตประเทศ แต่เป็นการอยู่แบบชุมชน บางคนอยู่ฝั่งเมียนมา แต่ลูกหลานมาเรียนฝั่งไทยมาอาศัยในหมู่บ้าน การแยกแยะก็เป็นหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถ้าเข้าข่ายนี้ก็จะผลักดันกลับประเทศ แต่ไม่ใช่ และเข้ามาแบบผิดกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทัพภาคที่ 3 ได้จัดทำแผนปฎิบัติการป้องกันแก้ไขปัญหาผู้หนีภัยจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมา ด้านจังหวัดตาก โดยแบ่งเป็น 4 ขั้นตอนประกอบด้วย 1.การประเมินสถานการณ์ซึ่งได้วิเคราะห์ว่ามีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบให้เกิดการหนีภัย 2.ขั้นตอนการแรกรับเพื่อคัดแยกกลุ่มบุคคลก่อนส่งไปรวบรวมในพื้นที่พักรอและกักกันโรคพื้นที่ โดยมี ผบ.ฉก.ร.4 เป็น ผบ.เหตุการณ์พื้นที่แรกรับ 3.การนำพื้นที่พักคอยและกักกันโรคซึ่งจัดตั้งขึ้นในสภาวะฉุกเฉินโดยจะจำแนกตาม ประเภทบุคคลเพื่อนำไปควบคุมและกักกันโรคในสถานที่ที่กำหนดโดยมีนายอำเภอประจำท้องถิ่นนั้นเป็นผบ.เหตุการณ์พื้นที่พักรอ ซึ่งหากตรวจพบผู้ป่วยให้ส่งตัวไปรักษาทันที 4.การปฏิบัติตามกฏหมายที่เกี่ยวข้องหลังสถานการณ์คลี่คลายโดยพิจารณาว่าบุคคลนั้นเป็นผู้หนีภัยสงครามหรือต้องการลักลอบเข้ามา
ทั้งนี้ได้จัดประเภทบุคคลเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มคนไทยที่ทำงานในเมียนมาร์ 2.บุคคลสัญชาติเมียนมาที่ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลหรือกองกำลังติดอาวุธ และ 3.บุคคลสัญชาติอื่นเจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศกลุ่มเอ็นจีโอบุคคลอื่นๆผู้ลี้ภัยทางการเมือง สำหรับพื้นที่รองรับใน จ.ตาก หากมีการอพยพเข้ามาจะเข้าพื้นที่แรกรับ มีทั้งหมด 10 จุด พื้นที่พักรอ 23 แห่ง ใน 5 อำเภอ ของจังหวัดตาก