เติมน้ำใต้ดินจากภูมิปัญญาชาวบ้าน สู่นวัตกรรมน้ำบาดาลแก้แล้ง-น้ำท่วม ยั่งยืน
การบริหารจัดการน้ำโดยการนำน้ำผิวดินส่วนเกินไปกักเก็บไว้ใต้ดิน เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ได้รับการยอมรับและดำเนินการมาอย่างยาวนานในต่างประเทศ ดังนั้น ในช่วงวิกฤตภัยแล้งของประเทศไทยที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ปริมาณน้ำผิวดินไม่เพียงพอ ประชาชนขาดแคลนน้ำอุปโภคและบริโภค พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการเติมน้ำใต้ดิน
โดย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช. ได้สั่งการให้เร่งดำเนินการเติมน้ำใต้ดินทั่วประเทศ …อยากให้ตำบล หมู่บ้าน และประชาชนให้ความร่วมมือกับทางราชการในการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีน้ำหลาก ต้องมีการเตรียมการเติมน้ำใต้ดิน เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในการทำเกษตรกรรมช่วงฤดูแล้งต่อไป…
ทั้งนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติและกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ร่วมกันเป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลัก โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนการพัฒนาบ่อน้ำบาดาลและการเติมน้ำใต้ดินตามหลักเกณฑ์ที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเสนอ โดยเฉพาะท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดพื้นที่ดำเนินการเติมน้ำใต้ดินให้มากขึ้น
การเติมน้ำใต้ดินเป็นการนำน้ำที่เหลือใช้ในช่วงน้ำท่วมหลากหรือจากน้ำฝนที่ตกลงมาเติมลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และนำกลับมาใช้ใหม่ในช่วงเวลาที่ต้องการ เป็นการช่วยธรรมชาติฟื้นฟูชั้นน้ำบาดาล แก้ไขปัญหาการลดระดับลงของชั้นน้ำบาดาลให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ช่วยระบายน้ำและลดปริมาณน้ำท่วม ที่สำคัญรูปแบบและวิธีการเติมน้ำใต้ดินที่เหมาะสมจะเพิ่มความคุ้มค่าและประหยัดงบประมาณ โดยรูปแบบของการเติมน้ำใต้ดินมีหลากหลายวิธี สามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ต่างๆ ได้
แต่วิธีที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลแนะนำให้ใช้กับพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยมีอยู่ 3 รูปแบบ คือ การเติมน้ำผ่านบ่อวงคอนกรีต การเติมน้ำฝนผ่านหลังคาผ่านบ่อวงคอนกรีต และการเติมน้ำผ่านสระ
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลขับเคลื่อนภารกิจการเติมน้ำใต้ดินตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 จำนวนทั้งสิ้น 1,530 แห่ง ได้แก่ พื้นที่อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 500 แห่ง และพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและจังหวัดระยอง จำนวน 30 แห่ง ส่วนอีก 1,000 แห่ง ดำเนินการในพื้นที่ 64 จังหวัด 396 อำเภอ จำนวน 1,000 ตำบล ขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ 1,002 แห่ง
อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 528 แห่ง ซึ่งผลที่เกิดขึ้นจากการเติมน้ำใต้ดินจะทำให้ระดับน้ำใต้ดินรอบๆ บ่อเติมน้ำค่อยๆ ยกตัวสูงขึ้น และเมื่อมีการก่อสร้างระบบเติมน้ำในพื้นที่กระจายตัวเพิ่มมากขึ้น ระดับน้ำใต้ดินจะยกตัวขึ้นเป็นบริเวณกว้าง เกษตรกรก็จะสามารถสูบน้ำที่กักเก็บไว้ใต้ดินในช่วงฤดูฝนกลับขึ้นมาใช้ประโยชน์ในฤดูแล้งได้ในระยะยาว และในทางกลับกัน เมื่อปริมาณน้ำหลากท่วมในช่วงหน้าฝนถูกระบายลงไปเก็บไว้ในชั้นใต้ดินมากขึ้น ก็จะเป็นการตัดทอนปริมาณน้ำที่ไหลล้นและท่วมในพื้นที่ลงไปได้ จึงเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังได้อีกทางหนึ่ง
ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์
นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2564 กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีแผนจะดำเนินการเติมน้ำใต้ดินเพิ่มเติมอีก จำนวน 1,000 แห่ง โดยได้รวบรวมข้อมูลพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเติมน้ำใต้ดินเสนอให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รับทราบแล้ว คาดว่าจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติได้เร็วๆ นี้ เพื่อเร่งดำเนินการได้ทันก่อนที่จะถึงฤดูฝนปีนี้ ทั้งนี้ การเติมน้ำใต้ดินที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้รับงบประมาณดำเนินการเป็นการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นทั้งหมด เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ภาคกลาง เช่น จังหวัดอ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี กาญจนบุรี พิษณุโลก และกำแพงเพชร เป็นต้น
พื้นที่ไม่น้อยกว่า 2-3 ล้านไร่ จะใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาลระดับตื้นเพื่อทำนาปรัง สังเกตได้จากพื้นที่ใดที่น้ำในคลองส่งน้ำแห้งขอด แต่บริเวณรอบๆ คลองส่งน้ำยังมีเกษตรกรสามารถทำนาได้ผลผลิตดีเช่นเดิม
นายศักดิ์ดา กล่าวว่า ข้อเท็จจริงก็คือเกษตรกรไม่ได้ใช้น้ำผิวดินมาทำนา แต่เกิดจากการสูบน้ำบาดาลระดับตื้นมาใช้ ดังนั้น การเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่ดังกล่าวจะทำให้เกษตรกรได้ประโยชน์สูงสุด และยืนยันว่าการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นจะไม่ส่งผลกระทบกับบ่อน้ำบาดาลที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นบ่อน้ำบาดาลที่เจาะจากแหล่งน้ำบาดาลระดับลึกตั้งแต่ 100 เมตรขึ้นไป ไม่ใช่ชั้นน้ำบาดาลในระดับเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เกษตรกรหรือผู้ที่ต้องการจะทำบ่อเติมน้ำใต้ดิน ต้องระลึกไว้เสมอว่า น้ำที่ใช้เติมต้องเป็นน้ำสะอาด ไม่มีสารพิษหรือสารปนเปื้อน และวัสดุที่ใช้จะต้องเป็นวัสดุธรรมชาติ ไม่นำขยะมูลฝอยมาถมไว้ในบ่อเติมน้ำโดยเด็ดขาด และการก่อสร้างบ่อต้องเป็นไปตามแนวทางการเติมน้ำใต้ดินของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล