รฟท. เวนคืน1.5หมื่นล้าน เปิดหน้าดินปักหมุด30สถานี รถไฟทางคู่ แม่สอด-นครสวรรค์
การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เร่งรัด โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ เชื่อมโยง ฝั่งตะวันออกและตกของไทย(อีสต์-เวสต์ คอริดอร์) ได้แก่ เส้นทาง แม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ และนครสวรรค์-บ้านไผ่ ให้ครบทั้ง 3 เส้นทาง ภายหลัง คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ เส้นทาง รถไฟทางคู่สายอีสาน ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ที่จะประมูลในปีนี้ หากก่อสร้างครบทั้ง3เส้นทางจะช่วย เชื่อมการเดินทางในประเทศและ ขนส่งสินค้า การท่องเที่ยว ไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา สปป.ลาว เวียดนามและกัมพูชาได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ แม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ ระยะทาง 254 กิโลเมตร ก่อสร้างเวนคืนเปิดหน้าดินใหม่ทั้งหมด แยกเป็นงบประมาณเวนคืน ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 1.3-1.5 หมื่นล้านบาท ค่าก่อสร้าง 8.1- 8.3 หมื่นล้านบาทความคืบหน้า คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย(บอร์ดรฟท.) อนุมัติให้จ้างที่ปรึกษาศึกษาออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จ พฤศจิกายน 2565และอยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) คาดว่าจะเสนอโครงการให้ คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติปลายปี 2565 เปิดประมูลปี 2566 ใช้เวลาก่อสร้าง 5-6 ปี แล้วเสร็จเปิดให้บริการอย่างเร็วปี 2571อย่างช้า ปี2572
หากรถไฟเส้นนี้เปิดให้บริการจะช่วยสร้างความเจริญเข้าถึงพื้นที่ โดยเฉพาะรอบสถานีราว30แห่ง ขณะ รายละเอียดโครงการเบื้องต้น ออกแบบเป็นรถไฟทางคู่ขนาดราง 1 เมตร (เท่ากับรถไฟในปัจจุบัน)ขนาดเขตทางกว้าง 50 เมตร โครงการแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ1. นครสวรรค์ – กำแพงเพชร – ตาก ระยะทาง 186 กิโลเมตร มีสถานี 24 สถานี2. ตาก – แม่สอดระยะทาง 68 กิโลเมตร มีสถานี 5 สถานี
ทั้งนี้สำหรับระยะทางรวม 254 กิโลเมตร มีรูปแบบเส้นทางคือ 1. ทางวิ่งระดับดิน 193 กิโลเมตร2. ทางวิ่งยกระดับ 31.5 กิโลเมตร3. อุโมงค์ 29.7 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 28 แห่ง มีลานกองเก็บคอนเทนเนอร์ (CY) 4 แห่งได้แก่ ได้แก่ 1. สถานีเจริญผล2. สถานีกำแพงเพชร3. สถานีหนองบัวใต้4. สถานีด่านแม่สอด และศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง ที่สถานีหนองบัวใต้
จุดประสงค์หลัก ช่วยขยายโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุมพื้นที่มีศักยภาพ ในการขนส่งสินค้า เช่น นครสวรรค์, กำแพงเพชร และ ตาก ซึ่งเป็นแหล่งเกษตรกรรม ใหญ่ของประเทศ เชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเปิดประตูในการขนส่งสินค้า แก้ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะช่วงผ่านเขา ตาก-แม่สอด ซึ่งมีรถบรรทุกในการเดินทางไปชายแดนแม่สอดเป็นจำนวนมาก และมีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
แนวเส้นทางแบ่งออกเป็น 2ช่วง ช่วงที่ 1 นครสวรรค์ – กำแพงเพชร – ตาก มีจุดเริ่มต้นโครงการจากสถานีนครสวรรค์ ใช้ทางร่วมกับทางรถไฟทางคู่ช่วง ลพบุรี-ปากน้ำโพ แล้วแยกจากทางหลักที่สถานีปากน้ำโพ (ในอนาคตจะเป็นสถานีชุมทางปากน้ำโพ)แล้วแยกออกซ้าย ข้ามแม่น้ำน่าน ผ่านอำเภอเมืองนครสวรรค์ ตัดเลี่ยงเมืองนครสวรรค์ตะวันออกผ่านอำเภอเก้าเลี้ยว ผ่าน ทางหลวง 117 ผ่านอำเภอบรรพตพิสัย เข้าสถานีเจริญผล ซึ่งเป็นลานคอนเทนเนอร์ (CY)
จากนั้นเส้นทางรถไฟจะเข้าจังหวัดกำแพงเพชรเพชร ที่อำเภอขาณุวรลักษบุรี อำเภอคลองขลุง แล้วเข้าสู่อำเภอเมืองกำแพงเพชร ตัดผ่านทางหลวง 115 และเข้าสถานีกำแพงเพชร ซึ่งเป็นลานคอนเทนเนอร์ (CY) จากนั้นมุ่งหน้าสู่อำเภอพรานกระต่าย เข้าอำเภอโกสัมพีเข้าสู่อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก ตัดกับทางหลวง 104 ข้ามแม่น้ำปิง เข้าสู่สถานีหนองบัวใต้ ซึ่งเป็นลานคอนเทนเนอร์ (CY) แล้วเลี้ยวซ้ายตัดกับทางหลวง 1 เข้าสถานีตาก
ช่วงที่ 2 ตาก-แม่สอด ช่วงนี้จะผ่านเขา มีจำนวนสถานีน้อย ส่วนมาจะตัดผ่านป่า และเป็นอุโมงค์ลอดเขา ถึง 4 ช่วงเพื่อแก้ปัญหาความชัน และก่อสร้างในเขตอุทยานเริ่มต้นจากสถานีตาก เข้าอุโมงค์ดอยรวก ระยะทาง 15.52 กิโลเมตร แล้วเข้าสู่สถานีด่านแม่ละเมา จากนั้นจะเข้าสู่อุโมงค์แม่ละเมา 1 ระยะทาง 1.42 กิโลเมตร และเข้าสู่อุโมงค์แม่ละเมา 2 ระยะทาง 0.775 กิโลเมตรเข้าสู่อุโมงค์ ดอยพะวอ ระยะทาง 12 กิโลเมตร แล้วเข้าสู่พื้นที่ราบ อำเภอแม่สอด เข้าสถานีแม่ปะ แล้วเลี้ยวซ้ายตัดกับทางหลวง 130 (เลี่ยงเมืองแม่สอด ไปด่านแม่สอด 2) วิ่งเข้าสู่สถานีแม่สอด มุ่งหน้าสู่สถานีด่านแม่สอด ซึ่งเป็นลานคอนเทนเนอร์ (CY)
โดยเส้นทางจะออกแบบเป็นระบบปิดสมบูรณ์ ไม่มีจุดตัดทางรถไฟระดับดิน เพื่อแก้ปัญหาอุบัติเหตุในอนาคต และการเดินรถไฟ ได้อย่างคล่องตัวเนื่องจากทำจุดตัดทางรถไฟเป็นหลายๆรูปแบบคือ1.สะพานข้ามทางรถไฟ (overpass)2.ทางรถไฟยกระดับ 3. ทางลอดทางรถไฟและ4. ถนนบริการ
โดยสรุปรถไฟทางคู่เส้นทางนี้จะเป็นทางเลือกในการเชื่อมเพื่อนบ้านและส่งเสริมความได้เปรียบเป็นประตูด้านตะวันตก ของประเทศไทยเราในอนาคตรวมถึงการแก้ปัญหาอุบัติเหตุในช่วง ตาก-แม่สอด ที่เป็นปัญหามาโดยตลอดด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง