คอลัมน์แท็งก์ความคิด : ผลงานท้องถิ่น
ขอแสดงความยินดีกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับรางวัลพระปกเกล้าไปเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
รางวัลพระปกเกล้าปีนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน
จากประเภทรางวัลที่เปิดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่งประกวด 3 ประเภท
1.ด้านความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม 2.ด้านการสร้างเครือข่าย 3.ด้านส่งเสริมสมานฉันท์
เปลี่ยนเป็น 3 ประเภทรางวัล คือ 1.ด้านความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม 2.ด้านการเสริมสร้างเครือข่าย และ 3.ด้านการลดความเหลื่อมล้ำ
ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ส่งประกวดรางวัลพระปกเกล้าด้านส่งเสริมสมานฉันท์เมื่อปี 2563 แล้ว แต่กรรมการไม่สามารถประเมินได้เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 คณะกรรมการมีมติให้ยกมาประเมินในปี 2564
ในปีนี้จึงคล้ายกับว่ามีการประเมินรางวัล 4 ประเภท
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ปรากฏดังนี้
ประเภทความโปร่งใสและส่งเสริมการมีส่วนร่วม มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 9 แห่งได้รับโล่รางวัล
1.อบจ.ภูเก็ต 2.ทน.นครสวรรค์ 3.ทน.สุราษฎร์ธานี 4.ทม.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช 5.ทต.เกาะคา อ.เกาะคา จ.ลำปาง
6.ทต.เวียงเทิง อ.เทิง จ.เชียงราย 7.อบต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ 8.อบต.นครชุม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร 9.อบต.แก้วแสน อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช
ประเภทการเสริมสร้างสันติสุขและความสมานฉันท์ มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับโล่รางวัล 3 แห่ง ประกอบด้วย 1.ทม.กาฬสินธุ์ 2.ทต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา 3.อบต.บ้านหนุน อ.สอง จ.แพร่
ประเภทการเสริมสร้างเครือข่าย รัฐ เอกชน และประชาสังคม มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับโล่รางวัล 14 แห่ง
1.อบจ.สงขลา 2.ทม.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 3.ทม.กะทู้ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต 4.ทต.ท่าคันโท อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ 5.ทต.ยางเนิ้ง อ.สารภี จ.เชียงใหม่
6. ทต.แม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน 7.ทต.ทับมา อ.เมือง จ.ระยอง 8.ทต.ศรีเตี้ย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน 9.อบต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี 10.อบต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย
11.อบต.สันกลาง อ.พาน จ.เชียงราย 12.อบต.นาคูณใหญ่ อ.นาหว้า จ.นครพนม 13.อบต.นาพันสาม อ.เมือง จ.เพชรบุรี 14.อบต.ร่องเคาะ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง
ประเภทการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับโล่รางวัล 10 แห่ง
1.อบจ.สตูล 2.ทน.ขอนแก่น 3.ทน.นนทบุรี 4.ทม.ร้อยเอ็ด 5.ทม.สุพรรณบุรี 6.ทม.บ้านสวน อ.เมือง จ.ชลบุรี 7.ทต.ก้อ อ.ลี้ จ.ลำพูน 8.อบต.เมืองพาน อ.พาน จ.เชียงราย 9.อบต.พลับพลาไชย อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี 10.อบต.เก่าขาม อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี
นอกจากนี้ยังมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับใบประกาศเกียรติคุณอีกหลายแห่ง
ขอแสดงความยินดี
รางวัลเหล่านี้เกิดจากการประเมินจากบุคคลภายนอก
ผลจากการประเมินจะลบคำสบประมาทท้องถิ่น ทั้งเรื่องทุจริต ทั้งเรื่องความสามารถ
ใครที่ติดตามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาตั้งแต่ปี 2544 ที่ถือว่าเป็นปีที่เริ่มกระจายอำนาจ
มาถึงบัดนี้พบว่าหลายท้องถิ่นสามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างดี
ที่สำคัญคือเป็นการพัฒนาไปตามความต้องการของแต่ละท้องถิ่นที่มีความต้องการแตกต่างกัน
ปัจจัยที่ทำให้แต่ละท้องถิ่นประสบความสำเร็จนั้นมีหลากหลาย
ต้องมีผู้นำที่ดี มีเครือข่ายช่วยเหลือ ได้รับความร่วมมือจากประชาชน เป็นต้น
หลายท้องถิ่นที่พบเห็นสามารถจัดการโครงการใหญ่ๆ ได้
เช่น เทศบาลตำบลทับมา อ.เมือง จ.ระยอง ที่สามารถทำอะไรได้หลายอย่างเพราะเครือข่ายเข้มแข็ง
ยกตัวอย่างเช่นการจัดการขยะ ได้ใช้กระบวนการ ROSES ในการจัดการ
กระบวนการอธิบายตามตัวอักษรที่ปรากฏ
R หมายถึง 3Rs ที่มาจาก Reduce Reuse และ Recycle
O หมายถึง Organic เป็นกระบวนการแยกขยะอินทรีย์ ลดปริมาณขยะอินทรีย์
S หมายถึง Selling คือ การขายขยะ
E หมายถึง Eject เป็นการคัดทิ้ง กำจัดออก ขยะทั่วไป ขยะพิษ ขยะติดเชื้อ
และ S หมายถึง Smiling bin คือเข้าถึงสภาพปลอดถังขยะ
การดำเนินการของเทศบาลทับมา ใช้วิธีการสร้างเครือข่าย จำนวน 22 เครือข่าย
สร้างความรู้ ความเข้าใจ ในการจัดการขยะชุมชน
ปลุกจิตสำนึกการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง โดยเริ่มจากชุมชน หมู่บ้านจัดสรร และโรงเรียนในพื้นที่
ตั้งจุดรวบรวมขยะอันตรายชุมชน
สร้างกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเพื่อนำขยะอินทรีย์ไปใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร
เดินหน้าสู่เป้าหมายหมู่บ้านปลอดถัง
และ “ตำบลปลอดขยะ” ในที่สุด
จากกระบวนการ ROSES เทศบาลตำบลทับมายังได้ขับเคลื่อนต่อไป
นำเอาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เข้ามากำหนด
SDGs เป็นเป้าหมายระดับสากล แต่เทศบาลตำบลทับมาหยิบมาเป็นเป้าหมายเมืองน่าอยู่
นี่คืออีกตัวอย่างของศักยภาพท้องถิ่น
เป็นศักยภาพที่บ่มเพาะเติบโตมาพร้อมๆ กับการกระจายอำนาจ
ดังนั้น การกระจายอำนาจต้องมีต่อไป
ความหวังของประเทศอยู่กับท้องถิ่นที่เข้มแข็ง
สรุปส่งท้าย ขอเชิญชวนทุกท้องถิ่น วันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ ไปคูหาเลือกตั้ง
แล้วกาบัตรเลือก นายก อบต.และ ส.อบต.เพื่อท้องถิ่นของท่านเอง