วันนี้เป็นวันแรกของการเริ่มใช้อัตราใหม่ ค่าผ่านทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร หลังจากที่มีการประกาศในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา ว่าจะปรับขึ้นค่าทางด่วน ซึ่งเรื่องนี้มีกระแสความคิดเห็นออกมามากมาย แต่ที่กลายเป็นประเด็น วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักบนโซเชียลมีเดีย คือคำพูดของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา ระหว่างที่ไปเปิดงานเคหะสุขประชาร่มเกล้า ระบุว่า “คนรวยก็ไปเสียเงินเอา คนรายได้น้อยก็ใช้เส้นทางข้างล่างเอา มันจะได้ไม่แออัดซึ่งกันและกัน”
หลายคนบอกว่า ได้ฟังประโยคนี้แล้วของนายกรัฐมนตรี รู้สึกถึงแนวคิดการแบ่งแยกชนชั้นระหว่างคนรวย-คนจน และสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม แม้ว่านายกรัฐมนตรี จะออกมาปฏิเสธภายหลัง ว่าการพูดในวันนั้น เป็นแค่การแสดงความเห็นในการคลี่คลายสถานการณ์รถติดก็ตาม เราจะไปย้อนฟังประโยคนั้นของนายกรัฐมนตรี
ทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ นี้ แม้จะมีการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าของโครงการ แต่การลงทุนและการบริหารจัดการ อยู่ในรูปแบบสัมปทานโครงการ ของบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด มหาชน หรือ BEM ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่เข้ามาดูแลทั้งหมด
โดยทางพิเศษเส้นนี้ มีระยะทางทั้งหมด 16.7 กิโลเมตร โดยมีด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษทั้งหมด 9 ด่าน ด่านบางซื่อ 1 – กำแพงเพชร 2 – สะพานพระราม 7 – บางกรวย – บางพลัด – บางบำหรุ – บรมราชชนนี – ตลิ่งชัน – ฉิมพลี ถือเป็นทางพิเศษเส้นทางโครงข่ายนอกเมือง เพื่อเชื่อมโยงระบบคมนาคมและขนส่ง ไปฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานคร ทำให้การเดินทางมีความสะดวก รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งปกติแล้ว ปริมาณจราจรทางด่วนเส้นนี้ ก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19 มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยประมาณ 70,000 เที่ยวต่อวัน แต่หลังจากช่วงโควิด-19 จำนวนของผู้ใช้บริการลดลง 20% เหลือประมาณ 50,000 เที่ยวต่อวัน
ขณะที่ราคาอัตราใหม่ที่มีการปรับขึ้น กำหนดให้ รถยนต์ขนาด 4 ล้อ เดิมจ่ายราคา 50 บาท ปรับขึ้น 15 บาท เป็น 65 บาท รถยนต์ขนาด 6-10 ล้อ ราคาเดิมจ่าย 80 บาท ปรับขึ้น 25 บาท เท่ากับจ่ายราคาใหม่ 105 บาท และรถยนต์ขนาด 10 ล้อขึ้นไป ราคาเดิม 115 บาท ปรับขึ้น 35 บาท ราคาใหม่จึงอยู่ที่ 150 บาท นั่นหมายความว่า ผู้ที่ใช้บริการทางด่วน จะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น 30% ของราคาค่าทางด่วนเดิม
ในเรื่องนี้ นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่าการขึ้นค่าทางด่วนตอนนี้ เป็นไปตามสัญญาสัมปทานที่ระบุว่า เมื่อครบ 5 ปี ต้องมีการปรับขึ้นราคา ซึ่งทางด่วนเส้นนี้เปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2559 จึงครบกำหนดตามสัญญา แต่ก็เข้าใจความเดือดร้อนของประชาชน จึงได้หารือกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด มหาชน หาแนวทางช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน และมีการออกเป็นคูปอง จำหน่ายให้ประชาชนนำไปใช้ชำระค่าทางด่วนได้ในอัตราค่าผ่านทางเดิม มีระยะเวลาใช้ได้ 1 ปี ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการขึ้นราคาเพื่อซ้ำเติมประชาชน
ผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้จากการปรับขึ้นราคานี้ หากเราลองคำนวณง่ายๆ ว่าใน 1 วัน ถ้าต้องใช้ทางด่วน ในการเดินทางไป-กลับ จะต้องเสียค่าทางด่วนตกวันละ 130 บาท หรือเกือบครึ่งหนึ่งของค่าแรงขั้นต่ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันจะอยู่ที่วันละ 331 บาท ตามข้อมูลจากกระทรวงแรงงานในปี 2564
หากคิดเป็นเงินค่าทางด่วนที่ต้องจ่ายตลอดทั้งเดือน 3,900 บาท ถ้าเทียบกับเงินเดือนเริ่มต้นของปริญญาตรีจบใหม่ที่ 15,000 บาท เท่ากับว่าต้องหมดไปกับค่าใช้จ่ายทางด่วนถึง 26% ของเงินเดือน
ยังไม่รวมค่าครองชีพอื่นๆต้องแบกรับในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าน้ำมันที่แพงขึ้น ซึ่งก็ส่งผลเป็นลูกโซ่ให้ต้นทุนวัตถุดิบต่างๆแพงขึ้นตาม ค่าไฟฟ้าที่อาจจะมีการปรับขึ้น 16.71 สตางค์ต่อหน่วย ในต้นปีหน้า
ขณะที่ประชาชนสะท้อนความคิดเห็นว่า การปรับขึ้นราคา ไม่ต่างกับเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชน ในภาวะสถานการณ์เศรษฐกิจยุคโควิด-19 แบบนี้ แม้จะมีการหาแนวทางช่วยเหลือให้กับประชาชน จำหน่ายเป็นคูปอง เพื่อใช้จ่ายค่าทางด่วนในราคาเดิม แต่ก็ไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง เพราะประชาชนส่วนหนึ่ง ที่จ่ายเงินซื้อบัตรอีซี่พาสไปแล้ว ก็เสียเปรียบอยู่ดี เพราะหากต้องการที่จะจ่ายทางด่วนในราคาเดิม ก็ต้องไปซื้อคูปองมาใช้แทน รวมถึงผลกระทบไม่ได้มีแค่ผู้ใช้บริการทางด่วนเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มต้นทุนการเดินทางที่นำไปสู่การขึ้นราคาในส่วนอื่นแบบเป็นลูกโซ่
ในเรื่องนี้ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยกับทีมข่าว 7HD มองว่าการขึ้นราคาค่าทางด่วนในครั้งนี้ แม้รัฐจะอ้างว่าเป็นการปรับขึ้นตามสัญญาสัมปทานที่ทำกับเอกชน และเงินทั้งหมดไม่ได้เข้ารัฐ แต่ภาครัฐก็ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ เพราะภาครัฐรู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าจะต้องมีการปรับขึ้นราคาเมื่อครบ 5 ปีตามที่ระบุในสัญญา ซึ่งตามหลักแล้วราคาค่าเดินทางระบบสาธารณะ ไม่ควรจ่ายเกิน 10% ของรายได้ที่มีต่อวัน
ปัญหาจากการทำสัญญาสัมปทาน ไม่ใช่แค่เรื่องทางด่วน แต่ยังรวมถึงรถไฟฟ้า และสัมปทานอื่นๆ ที่รัฐทำกับเอกชน กลายเป็นการเสียค่าโง่ตลอดเวลา รวมไปถึงการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนล่าสุด เพื่อแลกกับการชำระหนี้ให้เอกชน แต่ประชาชนต้องกลายเป็นผู้เสียประโยชน์และต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย และไม่เคยรู้เงื่อนไขและรายละเอียดการทำสัญญาสัมปทานของรัฐเลย ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถจะมาอ้างแค่ว่า รัฐไม่มีเงินลงทุน
โดยทางสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ยื่นหนังสือไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา เพื่อขอให้เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนและนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ เข้าไปมีส่วนร่วม เป็นคณะทำงานในการศึกษาและทำสัญญา เป็นการดูแลสัญญาสัมปทานตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด และราคาที่เป็นธรรม
ปัจจุบัน มีคดีที่ผู้บริโภคในนามของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องคดีกับภาครัฐ เกี่ยวกับระบบบริการสาธารณะ ไม่น้อยกว่า 5 คดี ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของรัฐ โดยมีทั้งคดีที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาสัมปทาน ด้านคมนาคม ที่รัฐทำกับเอกชน และระบบสาธารณูปโภคที่ภาครัฐเป็นผู้รับผิดชอบดูแลโดยตรง