เจาะประเด็นข่าว 7HD – วันนี้ความจริง กระทรวงคมนาคม มีแผนลดจำนวนรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพงให้เหลือแค่ 22 ขบวน แต่เจอกระแสคัดค้านจากหลายทิศทาง ขอกลับไปตั้งหลัก รอผลศึกษาอีก 1 เดือน เจาะประเด็นข่าว 7HD ตีตรงจุด จึงอยากชวนท่านผู้ชมติดตามทั้งคุณค่าสถานีหัวลำโพง ที่เป็นมากกว่าสถานีรถไฟ ไปจนถึงแผนพัฒนา ใครได้ ใครเสีย จะได้รู้ครบจบในช่วงนี้ เริ่มกันที่รายงานของ คุณดารินทร์ หอวัฒนกุล หัวลำโพงสถานีวัฒนธรรม กับภาพความทรงจำของคนไทย
“อนุสรณ์ปฐมฤกษ์” แห่งนี้ คือ จุดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เสด็จมาทำพิธีเปิดเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งเริ่มเปิดเดินรถให้บริการรถไฟครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2439 จากกรุงเทพฯ – อยุธยา
“อนุสาวรีย์ช้างสามเศียร” พร้อมสลักภาพนูนต่ำพระบรมรูปของในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่ตั้งอยู่หน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง ที่นี่ยังถือเป็นหลักกิโลเมตรที่ 0 ของทางรถไฟในประเทศไทยด้วย
“อาคารสถานีหัวลำโพง” เริ่มสร้างสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ.2453 และเริ่มใช้งานวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2459 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 โดดเด่นด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สวยสง่า แบบกรีก-โรมัน
ห่างจากสถานีหัวลำโพงไปไม่ไกล เป็นที่ตั้งของอาคาร “ตึกบัญชาการรถไฟ” ซึ่งเป็นที่ทำการสำนักงานใหญ่ของกรมรถไฟ หรือ การรถไฟแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน สร้างขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ.2433 หน้าตึกมีอนุสาวรีย์ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการรถไฟชาวไทยคนแรก
“อาคารพัสดุยศเส” หรือ “ตึกแดง” อาคารเก่าแก่ที่ก่อสร้าง อายุ 111 ปี ผสมผสานระหว่างไม้และอิฐแดง ใช้เก็บพัสดุจากการสร้างอุโมงค์ขุนตาน และการก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ ปัจจุบันเป็นที่ทำการของฝ่ายและสำนักงานต่าง ๆ ของการรถไฟ
5 สถานที่นี้ คือ สถานที่ที่มีคุณค่าสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีคุณค่าทางจิตใจ ไม่ใช่เพียงเฉพาะสำหรับคนรถไฟ แต่รวมถึงประชาชนที่มีความผูกพันกับสถานีรถไฟแห่งนี้
แม้หลายคนจะยอมรับว่า ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องของยุคสมัย แต่ก็รู้สึกเสียดายหากในอนาคตจะถูกลดบทบาทลงด้วยเหตุผลเพื่อการพัฒนา แต่หวังว่าการพัฒนาที่เกิดขึ้นจะไม่ลดทอนคุณค่าของหัวลำโพง ที่เปรียบเสมือนสถานีรถไฟที่มีชีวิต มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สะท้อนวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของผู้คน