เช้านี้ที่หมอชิต – กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เฝ้าระวัง 4 สายพันธุ์ย่อยของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ที่พบติดเชื้อแล้ว 14 คน ใน 8 จังหวัด
เรื่องนี้ถูกเปิดเผยโดย นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันแถลงข่าวเรื่องนี้ว่า จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์และการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ทั้งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และโรงเรียนแพทย์แนวหน้าของประเทศ ที่เป็นการถอดรหัสพันธุ์กรรมของโควิด-19 อย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ และมีการจัดหมวดหมู่แต่ละสายพันธุ์ ทำให้เห็นถึงการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา มีการกลายพันธุ์หลุดออกมาถึง 60 ตำแหน่ง ชี้ได้ว่ามีการแพร่ระหว่างคนสู่คนมาก
และตัวแตกเป็นสายพันธุ์ย่อยถึง 27 สายพันธุ์ย่อย มีตั้งแต่ AY.1 ไปจนถึง AY. 22 แต่ที่พบในประเทศไทย พบ 4 ตัว ได้แก่ AY.4 หรือ B.1.617.2.4 พบในจังหวัดปทุมธานี 4 คน บุรีรัมย์ 1 คน กำแพงเพชร 1 คน เชียงใหม่ 1 คน สมุทรปราการ 1 คน ชลบุรี 1 คน ส่วน AY.6 หรือ B.1.617.2.6 พบ 1% มี 1 คน ในกรุงเทพมหานคร, ส่วน AY.10 หรือ B.1.617.2.10 พบ 1% หรือ 1 คนในกรุงเทพมหานคร เช่นกัน และ AY.12 พบ 1 ในกรุงเทพมหานคร และสุราษฎร์ธานี 2 คน จึงต้องเฝ้าระวังสายพันธุ์ย่อยต่อไปว่าจะมีผลต่อการระบาด และมีผลต่อวัคซีนอย่างไร
สำหรับเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ยังพบเป็นสายพันธุ์เดลตามากที่สุด ภาพรวมทั้งประเทศอยู่ที่ 92.9% ส่วนในกรุงเทพมหานครพบ 96.7% ส่วนภูมิภาค 85.2% จึงถือว่าเดลตาเป็นสายพันธุ์หลักในการติดเชื้อของไทย ส่วนเบตา ยังพบในโซนภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะพื้นที่ติดประเทศมาเลเซีย ได้แก่ จังหวัดนราธิวาสมากสุด 15 คน นอกนั้นมีกระบี่ ภูเก็ต ปัตตานี และสงขลา