เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เผยแพร่สถิติการจัดเก็บเงินรายได้อุทยานแห่งชาติจำนวน 155 แห่ง ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยมีเงินรายได้จากค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานฯ จำนวน 390,862,987 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2563 ที่จัดเก็บเงินรายได้รวมกว่า 1,366,711,004 ล้านบาท จำนวนกว่า 975 ล้านบาท
โดยอุทยานฯ ที่มีเงินรายได้สูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.อุทยานฯ เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา จำนวน 66,342,822 บาท 2. อุทยานฯ เขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จ.ระยอง จำนวน 21,469,140 บาท 3.อุทยานฯ หมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา 21,464,250 บาท 4.อุทยานฯ อินทนนท์ 21,124,882 ล้านบาท 5.อุทยานฯ เอราวัณ จ.กาญจนบุรี 15,970,735 บาท 6.อุทยานฯ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะ พีพี จ.กระบี่ 15,067,910 บาท 7. อุทยานฯ ภูกระดึง จ.เลย 11,887,857 บาท 8.อุทยานฯ ภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก 10,555,335 บาท 9. อุทยานฯ หมูเกาะสุรินทร์ จ.พังงา 8,731,240 บาท 10.อุทยานฯ เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี 8,089,750 บาท
ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานฯ ในปีงบประมาณ 2564 มีจำนวน 7,478,565 คน เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 7,326,154 คน ชาวต่างชาติ 152,411 คน จากปีงบประมาณ 2563 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยว 13,994,679 คน เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 10,889,228 คน ชาวต่างชาติ 3,105,451 คน จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง 6,516,114 คน
สำหรับอุทยานฯ ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1. อุทยานฯ เขาใหญ่ 1,147,412 คน 2. อุทยานฯ เขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด 434,198 คน 3. อุทยานฯ ดอยอินทนนท์ 381 ,889 4.อุทยานฯ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี 239 ,841 คน 5.อุทยานฯ ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) 185 ,095 คน 6. อุทยานฯ ภูหินร่องกล้า 175 ,539 คน 7.อุทยานฯ น้ำตกพลิ้ว 174,218 คน 8. อุทยานฯ เอราวัณ 157,898 คน 9. อุทยานฯ คลองลาน จ.กำแพงเพชร 151 ,520 คน 10.อุทยานฯ ตาดโตน จ.ชัยภูมิ 148,783 คน
ทั้งนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อุทยานฯ ทางทะเล โดยเฉพาะฝั่งอันดามันเป็นพื้นที่ที่สามารถจัดเก็บเงินรายได้เป็นจำนวนมากจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เช่น อุทยานฯ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ที่ครองแชมป์จัดเก็บเงินรายได้หลักหลายร้อยล้านมาหลายปี โดยเคยจัดเก็บรายได้มากที่สุดเมื่อปีงบประมาณ 2560 ถึง 669 ล้านบาท หรืออุทยานฯ สิมิลัน ซึ่งจัดเก็บเงินรายได้มากที่สุดในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 222 ล้านบาท ต่างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเดินทางมาได้
ด้านนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า รายได้อุทยานมียอดลดลงอย่างชัดเจน สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้อุทยานแห่งชาติเกือบทั่วประเทศ ต้องปิดให้บริการ ย่อมส่งผลต่อรายได้อุทยานในภาพรวม รายได้ที่ลดลงกว่า 900 กว่าล้านบาทจากปี 2563 ทำให้กรมอุทยานฯ ค่อนข้างวิตก เพราะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ รายได้อุทยานลดลง ส่วนงบประมาณของกรมฯ ก็ถูกตัดลดลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายคงเดิม ทำให้กรมอุทยานฯ ต้องปรับเปลี่ยนลดค่าใช้จ่าย ลูกจ้างชั่วคราวที่แต่ละอุทยานแห่งชาติได้ว่าจ้างไว้ให้ทำงานขณะที่การท่องเที่ยวบูม ทางหัวหน้าอุทยานฯ ต้องพูดคุยกับลูกจ้างชั่วคราว ในการลดค่าจ้าง ซึ่งทางลูกจ้างชั่วคราวเองก็เข้าใจ ยอมให้ปรับลด
นายธัญญา กล่าวอีกว่า ในช่วงที่มีการปิดให้บริการ ตนได้สั่งการไปยังอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ให้มีการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งบ้านพัก ห้องน้ำ ทางเดิน และปรับปรุงพื้นที่ให้ดีขึ้น และต้องไม่กระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่าในพื้นที่ อย่างไรก็ตามขณะนี้ประเทศไทยได้เปิดประเทศแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 64 ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวได้เริ่มเดินทางเข้าเยี่ยมชมความงามในแต่ละอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศแล้ว ยิ่งช่วงนี้อุณหภูมิเริ่มลดลง อากาศเริ่มหนาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อุทยานฯ เขาใหญ่ และอุทยานฯ ทางภาคเหนือ ส่วนอุทยานฯทางทะเล ธรรมชาติเริ่มฟื้นตัว ระบบนิเวศต่างๆ เริ่มอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ก็พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวเช่นกัน
อธิบดีอุทยานฯ กล่าวว่า ส่วนรายได้อุทยานฯ ในปีงบประมาณ 2565 จะเพิ่มขึ้นหรือไม่ คงขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นสำคัญ ซึ่งทางกรมอุทยานฯ จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยนักท่องเที่ยวจะต้องปรับเปลี่ยนการท่องเที่ยวในรูปแบบวิถีใหม่ หรือนิวนอร์มัล เข้มข้นกับมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 โดยหัวหน้าอุทยานฯ แต่ละแห่งจะประสานงานกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ ในการพิจารณาเปิดหรือปิดอุทยานฯ ตามความเหมาะสมในสถานการณ์นั้นๆ.