ก่อนอื่นต้องขอท้าวความสั้นๆ คือเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชรคนใหม่ ปรากฏว่าคณะกรรมการสรรหาเสนอ “แคนดิเดต” 3 คน คนที่ได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากการหยั่งเสียงของประชาคมในมหาวิทยาลัย คือ รองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ วชิระ วิชชุวรนันท์ แต่ปรากฏว่าเมื่อชื่อเข้ากรรมการสรรหา มีการไปให้คะแนนคุณสมบัติต่างๆ สุดท้ายคะแนนออกมาเท่ากัน คือ 85 คะแนนทั้ง 3 คน ซึ่งเป็นเรื่องประหลาด และเมื่อส่งชื่อเข้าสภามหาวิทยาลัย ก็ต้องเลือกกันถึง 3 รอบ สุดท้าย อาจารย์วชิระ ที่ประชาคมสนับสนุน กลับไม่ได้รับเลือก แถมไม่มีการแจ้งผลหยั่งเสียงให้สภามหาวิทยาลัยทราบด้วย การสรรหาจึงถูกมองว่าไม่โปร่งใส มีการจัดชุมนุมต่อต้าน และมีการไปแจ้งความร้องทุกข์ไว้ที่ สภ.เมืองกำแพงเพชร นี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ และทาง “ข่าวข้นคนข่าว” ได้รายงานไปแล้ว
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 มีการประชุมสภามหาวิทยาลัย เพื่อรับรองผลการสรรหาอธิการบดี ปรากฏว่า บุคลากรของมหาวิทยาลัย ทั้งคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ พนักงานมหาวิทยาลัย เรียกว่าทุกภาคส่วน พร้อมใจกันใส่ชุดดำเพื่อไว้อาลัยผลการสรรหาอธิการบดีที่ไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และกฎหมาย เนื่องจากพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ กำหนดให้อธิการบดีต้องเป็นที่ยอมรับของประชาคมมหาวิทยาลัย และคนในท้องถิ่น
โดยบุคลากรของมหาวิทยาลัยไปรวมตัวแสดงพลังคัดค้านกันตั้งแต่ช่วงที่ รองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ โสรีช์ โพธิแก้ว ลงจากรถเลยทีเดียว และได้แวะพูดคุยตอบคำถามจากประชาคมมหาวิทยาลัย
- สิ้นดาวร้ายรุ่นเก๋า “วัฒนา กีชานนท์” จากไปอย่างสงบ ด้วยโรคชรา
- สาวก “ทักษิณ” ถล่มเพจ “ปลดแอก” โพสต์ด่าลดเพดานสู้ไม่แตะสถาบัน
- “ลุงชวน” ผวาหนัก เจอหมาวิ่งตัดหน้าขบวนรถเบรกกะทันหัน
จากนั้นจึงมีการประชุมสภามหาวิทยาลัย ปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติ 9 ต่อ 7 รับรองกระบวนการสรรหาอธิการบดี โดย 9 เสียงที่รับรอง มาจากกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นคนนอกทั้งหมด ส่วน 7 เสียงที่ไม่รับรอง เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่เป็นคนในทั้งหมด
ยอมถอยครึ่งก้าว ไม่กล้าตั้งผู้มีส่วนได้เสีย “รักษาการ”
แต่ฝ่ายคณาจารย์ และบุคลากร ที่รวมตัวกันเป็น “ประชาคมมหาวิทยาลัย” ก็ไม่ได้พ่ายแพ้ไปเสียทีเดียว เพราะยังมีวาระการทบทวนผลการเลือกอธิการบดี ซึ่งมีหลายฝ่ายยื่นหนังสือขอให้ทบทวน ทั้งตัวอาจารย์วชิระเอง ประธานสภาคณาจารย์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยที่เป็นผู้แทนคณาจารย์ รวมไปถึงกรรมการจริยธรรม
ในที่สุด เพื่อความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย สภาจึงมีมติว่า หากมีการฟ้องร้องเป็นคดี ให้นำเรื่องเข้าสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาอย่างเร่งด่วน (ซึ่งมีข่าวว่าจะมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองด้วย) และจะไม่มีการแต่งตั้ง “รักษาการอธิการบดี” จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงผู้ที่ได้รับการสรรหาเป็นอธิการบดีคนใหม่ด้วย ทั้งที่จริงๆ แล้วตามธรรมเนียม จะมีการตั้งผู้ที่ผ่านการสรรหา เป็นรักษาการอธิการบดีไปเลย ระหว่างรอโปรดเกล้าฯ
สำหรับมติสภามหาวิทยาลัยที่ออกมาอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ ในวาระแต่งตั้งอธิการบดีนั้น เกิดขึ้นน้อยมากในแวดวงอุดมศึกษา ครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่ต้องบันทึกไว้ เพราะนอกจากเสียงจะไม่เอกฉันท์แล้ว คะแนนยังก้ำกึ่งกัน คือ 9 ต่อ 7 ด้วย
แต่งเพลง “สภาเกาหลัง” ประจานความล้มเหลว
อย่างไรก็ตามการต่อสู้ครั้งนี้ยังไม่จบ โดยประชาคมมหาวิทยาลัยได้ร่วมกันร้องเพลง “สภาเกาหลัง” ที่เพิ่งแต่งขึ้นสดๆ ร้อนๆ เพื่อประจานความล้มเหลวของระบบสภามหาวิทยาลัยที่มีปัญหาธรรมาภิบาล ไม่ฟังเสียงประชาคม ไม่เคารพกฎหมาย แต่กลับรับใช้อำนาจและผลประโยชน์ ซึ่งคำว่า “สภาเกาหลัง” เป็นคำที่คนในแวดวงอุดมศึกษาพูดกันมานานแล้ว ซึ่งหมายถึงระบบบริหารภายในมหาวิทยาลัยที่ไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร คืออธิการบดีได้จริง แม้จะมีสภา แต่กลับเอื้อประโยชน์ เกี้ยเซี้ยแบ่งอำนาจกัน จนทำได้แค่ “ผลัดกันเกา” แต่ไม่สามารถตรวจสอบ
เรื่องโดย Nation TV | ภาพโดย Nation TV