เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
สถานการณ์ปริมาณน้ำจากผลกระทบร่องมรสุมกำลังแรง ส่งผลให้ “อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก” ในภาคเหนือของไทยมีปริมาณเกินกักเก็บเข้าสู่วิกฤต ประกอบกับในพื้นที่จังหวัด “อุบลราชธานี” กำลังจะเป็นจุดเฝ้าระวังจากการเร่งระบายน้ำจากเขื่อนราษีไศล
กรมทรัพยากรน้ำ เปิดข้อมูลล่าสุดวันที่ 11 กันยายน 2565 พบ ปริมาณน้ำใน “อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก” วิกฤตจากปริมาณ “น้ำเกินกักเก็บ” ในเขตภาคเหนือจำนวน 12 แหล่งน้ำจากทั้งหมด 23 แห่ง โดยพบวิกฤตน้ำมากเกินปริมาณกักเก็บและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยแบ่งเป็นจังหวัด “เชียงราย” 2 แห่งปริมาตรน้ำสูงสุดคือ 1.อ่างเก็บน้ำห้วยก้าง 2.อ่างเก็บน้ำแม่ฉางข้าว
รองลงมาเป็น 3.อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตุ้ม 4.อ่างเก็บน้ำแม่ต๋ำ 5.อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำแวน 6.อ่างเก็บน้ำห้วยสิงห์ ในจังหวัด “พะเยา” ส่วนในจังหวัด “ลำพูน” 1 แห่งที่ 7.อ่างเก็บน้ำแม่เกย จังหวัดลำปาง 2 แห่งที่ 8.อ่างเก็บน้ำแม่แสดและ 9.หนองกระทุ่งปง จังหวัด “ตาก” 2 แห่ง ที่ 10. หนองชำและ 11.อ่างเก็บน้ำคลองห้วยทราย
และที่จังหวัด “กำแพงเพชร” อีก 1 แห่งคือ 12.อ่างเก็บน้ำหนองกอง นอกจากนี้ทางกรมทรัพยากรน้ำเฝ้าระวังน้ำมากอีก 6 แหล่งน้ำอีกด้วย
ขณะที่สถานการณ์น้ำลุ่ม “แม่น้ำชี” ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือปริมาณน้ำที่วิกฤตน้ำมากมีถึง 3 จุดที่บริเวณบ้านท่าแห่ อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ ตามมาด้วยที่บ้านท่าฉาง อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิและที่บ้านท่าเดื่อ อำเภอชุมแพ จังหวัด “ขอนแก่น” นอกจากนี้ทางกรมทรัพยากรน้ำยังได้เตือนจุดน้ำมากเฝ้าระวังอีก 10 จุดทั่วทั้งภาค
ขณะที่ลุ่ม “แม่น้ำวัง” ทางภาคเหนือ กรมทรัพยากรน้ำแจ้งเตือนจุดน้ำมากที่จังหวัดตากในบริเวณบ้านยางโอง อำเภอบ้านตาก เช่นเดียวกับลุ่มแม่น้ำปิงที่จังหวัดเชียงใหม่ ลุ่มน้ำแม่ขานที่บ้านเปียง ในอำเภอสันป่าตองมีน้ำมาก
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงต่อจากนี้ ทางกองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้มีประกาศ เมื่อวันที่ 10 กันยายน ให้เฝ้าระวังระดับ “แม่น้ำมูล” ในช่วงวันที่ 13-18 กันยายนนี้ เนื่องจากปริมาณน้ำลุ่มแม่น้ำมูลตอนบนมีปริมาณน้ำจำนวนมากที่ไหลผ่าน “เขื่อนราษีไศล” ในขณะที่ระดับหน้าหน้าเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นได้เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์และจังหวัดร้อยเอ็ด ทำให้ทาง “กรมชลประทาน” ปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดเพื่อลดผลกระทบด้านท้ายน้ำ
ด้วยเหตุนี้ ทางศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประกาศเตือนจังหวัดท้ายน้ำอย่าง จังหวัดอุบลราชธานีอาจจะได้รับผลกระทบในช่วงวันที่ 13 -18 กันยายน โดยระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นสูงสุดถึง 0.50 เมตร และหากปริมาณฝนที่ตกมามีปริมาณมากกว่า 90 มิลลิเมตรในช่วงเวลา 24 ชั่วโมงอาจจะต้องรับมือสถานการณ์เร่งด่วนโดยเฉพาะที่อำเภอวารินชำราบ
และล่าสุด ทางกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศ เตือน “ฝนตกหนักถึงหนักมาก” ในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และกรุงเทพมหานครอีกครั้ง
ที่มา กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ https://www.facebook.com/NationalWaterCommand