เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
กำแพงเพชร – เจ้าของโรงสีใหญ่เมืองกล้วยไข่ ออกโรงทวง อคส.จ่ายค่าเช่าคลังเก็บข้าวโครงการรับจำนำ ที่ยังคงค้างกว่า 336 ล้านบาท แถมปล่อยข้าวประมูลขายแล้วกองทิ้งเน่าหน้าคลังอีกกว่า 2,000 ตัน ด้านผู้ตรวจสอบฯชี้ข้าวยังมีคุณภาพแต่กลับขายทิ้งเป็นเชื้อเพลิง
วันนี้(8 มี.ค.66) นายมนต์ชัย รุ่งชาญชัย ประธานบริษัทสิงห์โตทองไรซ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่เลขที่ 111 ม.2 ถ.พหลโยธิน ต.ธำมรงค์ อ.เมือง กำแพงเพชร เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่าตนเองได้รับความเดือดร้อน จนต้องออกมาขอความเป็นธรรม กรณีสัญญาเช่าคลังสินค้าตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2554 /2555 , นาปรัง 2555 , นาปี 2556
ซึ่งองค์การคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ทำสัญากับทางบริษัทเพื่อใช้พื้นที่เก็บรักษาข้าวสารตามโครงการรับจำนำรวม กว่า 5 ล้านกระสอบ และต้องจ่ายค่าเช่าตามจำนวนข้าวสารที่นำมาเก็บจริงในอัตรากระสอบละ 2 บาทต่อเดือน แต่ที่ผ่านมาไม่ได้จ่ายเงินค่าเช่าตามข้อตกลง ซึ่งบริษัทได้รับค่าเช่าครั้งล่าสุดเมื่อปี 2562 องค์การคลังสินค้า จนถึงปัจจุบันองค์การคลังสินค้ายังคงค้างค่าเช่าจำนวนกว่า 336 ล้านบาท
และตามบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาขององค์การคลังสินค้า กรณีการจ่ายเงินค่าใช้จ่ายต่างๆตามโครงการรับจำนำของรัฐบาลว่า องค์การคลังสินค้าจะทยอยจ่ายค่าเช่าคลังสินค้าและค่าใช้จ่ายต่างๆตามงบประมาณที่ได้รับจากรัฐบาลให้กับบริษัทสิงห์โตทองไรซ์ คอร์ปอเรชั่นจำกัดให้แล้วเสร็จไม่เกิน 30 วัน สำหรับกรณีค่าใช้จ่ายที่ยังคงค้างจ่ายคงเหลือ องค์การคลังสินค้าจะจ่ายให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วันหลังจากที่ได้รับงบประมาน
นอกจากนั้นยังยินยอมให้บริษัทสิงห์โตทองไรซ์คอร์ปอเรชั่นจำกัด สามารถยึดหน่วงสินค้าในคลังได้ หากองค์การคลังสินค้าผิดนัดผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ให้แก่บริษัทฯจนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วนตามสัญญา
ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงกับสัญญาที่ผิดนัดมาเป็นเวลาหลายปี ตนจึงเรียกร้องเพื่อขอความเป็นธรรมในกรณีการจ่ายค่าเช่าคลังสินค้าของตนที่คงค้างอยู่จำนวนกว่า 336 ล้านบาท
นอกจากนั้น ยังต้องการให้องค์การคลังสินค้า ดำเนินการขนย้ายข้าวสารตามสัญญาเช่าคลังสินค้าในคลังหลังที่ A1 ซึ่งองค์การคลังสินค้าได้เปิดประมูลขายข้าวสารในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ เมื่อปี 2562
โดยบริษัทผู้ชนะการประมูลเริ่มขนย้ายข้าวสารออก เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 จนถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 แต่ยังคงเหลือข้าวสารประมาณ 2 พันตัน ซึ่งอยู่ในความดูแลขององค์การคลังสินค้า กองทิ้งไว้ที่หน้าคลังสินค้ามานานถึง 8 ปี จนเสียหาย ส่งกลิ่นเน่าเหม็น ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของบริษัทเป็นอย่างมาก
“ขอให้องค์การคลังสินค้า มาดำเนินการขนย้ายข้าวสารจำนวนนี้ออกจากพื้นที่บริษัทโดยด่วน ซึ่งตนก็ได้ทำหนังสือแจ้งถึงองค์การคลังสินค้า ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบันถึง 8 ฉบับแล้ว”
ด้านนายสุรเดต ยูนุช อายุ 59 ปี ผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวบริษัทยูนิตี้พร้อย ซึ่งเป็นตัวแทนบริษัทในการควบคุมการออกข้าวให้กับบริษัทผู้ชนะการประมูลภายในคลังสินค้าสิงห์โตทองฯหลังที่ 13 เปิดเผยว่าทางบริษัทมีหน้าที่ในการดูแลอบยา ต่อมาไม่สามารถเข้าดำเนินการได้ และองค์การคลังสินค้าไม่จ่ายเงินให้ในการดำเนินการ ทำให้บริษัทถูกฟ้องค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนหลายร้อยล้านบาท
ขณะเดียวกัน ขอตั้งข้อสังเกตว่าข้าวสารที่ตนควบคุมการปล่อยออกวันนี้ยังคงเป็นข้าวที่มีคุณภาพ ที่คนและสัตว์กินสามารถบริโภคได้ ไม่สมควรนำไปแปรรูปเป็นพลังงานเชื้อเพลิงด้วยการนำไปเผา