สำหรับ นักเลือกตั้ง การเปลี่ยนแปลงพรรคการเมืองถือเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะในช่วงก่อนการเลือกตั้งที่จะมุ่งไปพรรคการเมืองที่มีโอกาสพาตนเองเข้าสภาผู้แทนราษฎร หรือการเป็นรัฐบาลเพื่อนำงบประมาณลงสู่พื้นที่
แต่สิ่งที่เกิดกับ พรรคพลังประชารัฐ ในขณะนี้ สามารถเรียกว่า ปรากฏการณ์เลือดไหล ก็ได้ เพราะมี ส.ส.มากกว่าสิบชีวิตเตรียมตัวขนของไปอยู่พรรคใหม่
ก่อนหน้านี้มี ส.ส.บางคนตัดสินใจทิ้งเก้าอี้ ส.ส.เพื่อไปร่วมงานกับ เฮียกวง-นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีอีกครั้งที่พรรคสร้างอนาคตไทย ได้แก่ นายวิเชียร ชวลิต และ นายสุพล ฟองงาม อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และยังมีข่าวว่าจะมี ส.ส.ตามไปอีกในไม่ช้า โดยเฉพาะ นายวัชระ ยาวอหะซัน ส.ส.นราธิวาส ที่ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จี้ถามความชัดเจนในการประชุมพรรคหลายรอบ
ขณะที่เมื่อไม่นานมานี้ มาดามเดียร์-นางวทันยา บุนนาค อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตแกนนำกลุ่มดาวฤกษ์ ทิ้งตำแหน่ง ส.ส.เพื่อย้ายไปอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีรายงานว่า อาจจะมี ส.ส.กทม.ของพรรคพลังประชารัฐบางคนตามไปอยู่ด้วยอีก
นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังปรากฏภาพ ส.ส.หลายคนของพรรคพลังประชารัฐ ไปร่วมทำกิจกรรมกับพรรคภูมิใจไทยของ เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข มาพักใหญ่ๆ แล้ว
ส.ส.ที่มีคนพบเห็นไปป้วนเปี้ยนอยู่แถวซอยรางน้ำ ฐานบัญชาการใหญ่ของค่ายสีน้ำเงิน มีทั้ง นายอนุชา น้อยวงศ์ ส.ส.พิษณุโลก ที่มีความสนิทสนมกับ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี และรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.ชัยภูมิ ที่ใกล้ชิดกับ พ่อลูกช่างเหลา-นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ นายวัฒนา ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น ที่ใช้จังหวะถูกขับออกจากพรรคพลังประชารัฐไปซบพรรคภูมิใจไทย
รวมไปถึง ส.ส.ในโซนภาคกลางของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็น นายประทวน สุทธิอํานวยเดช ส.ส.ลพบุรี นายปฐมพงศ์ สูญจันทร์ ส.ส.นครปฐม และ 2 ส.ส.เพชรบุรี คือ ส.ส.เปี๊ยก-นายสุชาติ อุสาหะ และ ทนายกฤษณ์-นายกฤษณ์ แก้วอยู่ นักการเมืองสาย นายธานี ยี่สาร อดีตกลุ่ม 16
นายสมชาย วอนเพียร ส.ส.กาญจนบุรี ตลอดจนสองพี่น้องตระกูลสงฆ์ประชาจาก จ.ชัยนาท อย่าง ส.ส.แดง-นายมณเฑียร สงฆ์ประชา ส.ส.ชัยนาท และ ส.ส.มันแกว-น.ส.นันทนา สงฆ์ประชา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาภิวัฒน์ ซึ่งเป็นองคาพยพของพรรคพลังประชารัฐ
คนเหล่านี้มีการดีลกับบ้านใหญ่บุรีรัมย์เรียบร้อยมาระยะหนึ่งแล้ว ก่อนจะถูกพาไปเปิดตัวในงานวันคล้ายวันเกิด นายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน ยังมีรายงานว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า ส.ส.กทม.เกือบทั้งหมดจะไม่ได้อยู่กับพรรคพลังประชารัฐ โดยขณะนี้ส่วนหนึ่งถูก นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีต รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดึงไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย บางคนจะไปทำการเมืองกับ นายณัฐฏพล ทีปสุวรรณ อดีต รมว.ศึกษาธิการ ส่วนในราย น.ส.กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ ส.ส.กทม. ตกเป็นข่าวมีการดีลเพื่อจะย้ายไปลงสมัครกับพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้า
ขณะที่ กลุ่มปากน้ำ ของ เอ๋-นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ที่มี ส.ส. 6 คน กำลังถูกจับตามองอย่างมากว่า จะย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทยหรือไม่ เพราะรักใคร่กันดี ลูกสาวเป็นคนรักของลูกชายหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย อีกทั้ง กลุ่มปากน้ำ เองมีปัญหากับ เสี่ยเฮ้ง-นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ
อีกคนที่มีแนวโน้มจะย้ายออกคือ “รองตี๋” นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีตแกนนำบ้านริมน้ำ ที่ไม่เคยร่วมกิจกรรมกับพรรคพลังประชารัฐมาตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง มีข่าวว่าจะรีเทิร์นกลับพรรคเพื่อไทย
เช่นเดียวกับ บ้านใหญ่ชลบุรี ของ นายสนธยา คุณปลื้ม อดีตนายกเมืองพัทยา ที่ลือกันว่าจะพา ส.ส.ชลบุรีบางส่วนกลับไปรีแบรนด์พรรคพลังชลให้เป็นพรรคภาคตะวันออก
และยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่เปิดเผยตัว เพราะรอลาออกหลังยุบสภาหรือก่อนครบเทอม 90 วัน
กลุ่มใหญ่ๆ ในพรรคพลังประชารัฐตอนนี้ที่ยังตั้งการ์ดสูง เหลือเพียง กลุ่มสามมิตร ที่แม้ยืนยันว่าจะยังอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ หลังตกเป็นข่าวจะคัมแบ็กบ้านเก่าอย่างพรรคเพื่อไทย แต่หลายคนยังไม่เชื่อ เพราะเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองค่อนข้างรอบคอบ ชั่งตวงหลายปัจจัย ไม่ผลีผลาม รอดูสถานการณ์จนชัวร์
กลุ่มมะขามหวาน ของ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่มี ส.ส.ในมือ 6 คน กลุ่มเพื่อนเฮ้ง ของ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และผู้อำนวยพรรคพลังประชารัฐ ที่มี ส.ส.ระยอง ฉะเชิงเทราบางส่วน กาญจนบุรีบางส่วน และจันทบุรี รวมไปถึง มุ้งชากังราว จ.กำแพงเพชร ของ นายวราเทพ รัตนากร ที่มี ส.ส.ในมือ 4 คน
แม้จนถึงนาทีนี้ บิ๊กป้อม จะออกมาปฏิเสธว่าไม่มีใครย้ายออกไป แต่มันเป็นการตอบตามหน้าเสื่อ เพราะมีข้อมูลลูกพรรคตัวเองทุกคน
ที่ผ่านมา บิ๊กป้อม ก็มีความพยายามรั้งบางคน แต่รู้อยู่เต็มอกว่าถึงที่สุดก็ยากจะรั้ง เพราะ ส.ส.ทุกคนต่างต้องการอยู่ในจุดที่มีโอกาสเข้าสภา ในขณะที่กระแสของพรรคพลังประชารัฐไปต่อลำบาก ตลอดจนความไม่ชัดเจนของ 3 ป.
แต่ไม่ว่าใครจะเข้าจะออก ที่สุดแล้วพรรคพลังประชารัฐจะยังอยู่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพียงแต่อาจลดขนาดจาก พรรคขนาดใหญ่ เป็น พรรคขนาดกลาง เปลี่ยนสถานะจาก แกนนำรัฐบาล มาเป็น พรรคร่วมรัฐบาล
เพราะสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าผลเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร “บิ๊กป้อม” ก็ยังมีอำนาจต่อรอง โดยเฉพาะเสียง ส.ว. 250 คน.