วัดแห่งนี้เป็นวัดที่เก่าแก่และมีปริศนาอยู่ เนื่องจากไม่มีผู้ใดสืบหาได้ว่าวัดนี้มีชื่อว่าอะไร ใครเป็นผู้สร้างและสร้างในสมัยไหนไม่มีใครสามารถหาคำตอบได้ แต่มีผู้สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้มีอายุมากกว่า 400 ปี จนเข้าสู่สมัยของพระบามสมเด็จกระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 จึงได้มีผู้ก่อตั้งวัดขึ้นมาใหม่ในบริเวณที่ตั้งเดิม ในปี พ.ศ. 2394- 2399 ปัจจุบันได้มีพระเทพปริยัติเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชรเป็นเจ้าอาวาสของวัดแห่งนี้ ลักษณะหอไตรวัดคูยาง เป็นอาคารทรงไทยพื้นถิ่นกำแพงเพชร สร้างด้วยไม้หลังคามุงกระเบื้องเกล็ดใต้ถุนสูงกว้าง 6 เมตร ยาว 12 เมตร ตั้งอยู่กลางคูน้ำเดิม ภายในอาคารเป็นโถงโล่งโถงกลางมีเสากลมรองรับด้านละ 3 ต้น หลังคาโถงกลางเป็นทรงจั่วมีช่อฟ้าหางหงส์ทำด้วยปูนปั้นประดับอยู่รอบจั่วทั้งสองด้าน มีหลังคาปีกนกคลุมฝาผนังทั้ง 4 ด้าน ฝาผนังเป็นแบบฝาปะกนฝาผนังด้านข้างมีหน้าต่างข้างละ 4 ช่อง ฝาผนังด้านหน้าและหลังมีประตูด้านละ 1 ช่อง และมีหน้าต่างด้านละ 2 ช่อง มีพาไล (มุขที่มีชายคาคลุมและมีเสารองรับ) ทั้งด้านหน้าและด้านหลังพาไลเป็นชั้นลดลงมาจากโถง มีบันไดขนาด 3 ขั้นพาดขึ้นไปสู่โถงในทั้งด้านหน้าและหลัง เฉพาะพาไลด้านหน้ามีนอกชานยื่นออกไปตรงกลาง ใช้เป็นที่พาดบันไดขนาด 7 ขั้นเชื่อมต่อกับสะพานไปยังพื้นดิน นอกจากเป็นสถานที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์แล้ว หอไตรวัดคูยางยังเป็นศูนย์เผยแพร่พระพุทธศาสนา เป็นสำนักเล่าเรียนพระธรรมวินัยของพระภิกษุสามเณรและประชาชนทั่วไป เป็นสนามสอบบาลีสนามหลวงประจำจังหวัด และเป็นศูนย์รวมการปกครองของคณะสงฆ์จังหวัดกำแพงเพชรในปัจจุบัน